เว็บบอร์ด
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

เงื่อนไขการเตาบะฮ์การเตาบะฮ์: เงื่อนไขและวิธีการ

Go down

เงื่อนไขการเตาบะฮ์การเตาบะฮ์: เงื่อนไขและวิธีการ Empty เงื่อนไขการเตาบะฮ์การเตาบะฮ์: เงื่อนไขและวิธีการ

ตั้งหัวข้อ by Profile Mon Jan 05, 2015 12:25 am

เงื่อนไขการเตาบะฮ์
การเตาบะฮ์จากบาปนั้นมีสองประเภท คือ:

บาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์ [حَقُّ اللهِ] เช่น ละทิ้งการละหมาด การออกซะกาต การถือศีลอด การคลุมฮิญาบ การดื่มเหล้า การทำซินา การกินดอกเบี้ย เป็นต้น

บาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์ [حَقُّ الآدَمِيِّ] เช่น การทรพีต่อบิดามารดา การยักยอกทรัพย์สินผู้อื่น การนินทา เป็นต้น
เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์
เงื่อนไขของการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์มี 3 ข้อ

1. ต้องละเลิกจากบาปที่เขาได้กระทำ
ท่านอิมามอิบนุฮะญัร อัลฮัยตะมีย์กล่าวว่า “การละเลิกจากบาปนั้น คือละเลิกจากบาปเพื่ออัลเลาะฮ์ ดังนั้นถ้าหากเขาละทิ้งบาปเพราะกลัว(คนอื่นจะตำหนิ) หรือเพื่อโอ้อวด(ให้คนอื่นรู้ว่าเขาไม่ได้ทำบาปแล้ว) และกรณีอื่นๆ ที่มิได้มีเป้าหมายเพื่ออัลเลาะฮ์ ก็นับว่าเขายังไม่ใช่เป็นผู้ละเลิกบาปอย่างแท้จริง”1

ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์กล่าวว่า “ให้ผู้เตาบะฮ์ละเลิกกระทำบาปเพราะยอมสยบต่อความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์และกลัวการลงโทษของพระองค์เท่านั้น มิใช่ละเลิกจากบาปเพราะปรารถนาในเรื่องของดุนยา กลัวผู้คนจะประณาม ต้องการที่จะได้รับการสรรเสริญและมีชื่อเสียง หรือเพราะว่าร่างกายอ่อนแอ(ไม่สามารถไปทำชั่วได้) หรือเพราะยากจน(จึงไม่เงินไปเล่นการพนันได้) เป็นต้น”2

2. โศกเศร้าเสียใจต่อการกระทำบาปนั้น
ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์กล่าวอธิบายว่า “ความโศกเศร้าเสียใจเพราะรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ของอัลเลาะฮ์และกลัวการลงโทษของพระองค์นั้น3 เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ทำการเตาบะฮ์อย่างจริงใจ”4

3. ตั้งใจอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่กลับไปทำบาปนั้นอีก
ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์ได้กล่าวอธิบายว่า “เขาต้องมั่นใจและตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะไม่กลับไปทำบาปอีก ดังนั้นถ้าหากเขาละทิ้งบาป โดยที่จิตใจนั้นยังลังเลว่า บางทีอาจจะกลับไปกระทำบาปหรือไม่มีความมั่นใจว่าจะละทิ้งบาปนั้นได้ แน่นอนว่าเขาเพียงแค่ละทิ้งบาปเฉยๆโดยมิได้เป็นผู้เตาบะฮ์จากบาปเลย”5

ดังนั้นถ้าหากผู้ทำการเตาบะฮ์ได้ขาดเงื่อนไขหนึ่งจากสามเงื่อนไขนี้ การเตาบะฮ์ของเขาถือว่าใช้ไม่ได้และไม่สมบูรณ์

เงื่อนไขการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของมนุษย์
เงื่อนไขของการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของเพื่อนมนุษย์มี 4 ข้อ ซึ่งข้อ 1-3 นั้น เป็นเงื่อนไขเดียวกับการเตาบะฮ์จากบาปที่เป็นสิทธิของอัลเลาะฮ์

ส่วนข้อที่ 4. คือ ผู้เตาบะฮ์ต้องคืนสิทธิ์ของผู้อื่นที่เขาละเมิดมาหรือต้องขอมะอัฟเขา ดังนั้นถ้าหากผู้เตาบะฮ์ไม่ทำให้ตนเองพ้นมลทินจากการละเมิดสิทธิผู้อื่นหรือไม่ขอมะอัฟ แน่นอนว่าเขาอาจจะกลายเป็นคนล้มละลายในวันกิยามะฮ์ เพราะท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวรายงานว่า

أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ مَنْ كَانَتْ عِنْدَهُ مَظْلِمَةٌ لِأَخِيهِ فَلْيَتَحَلَّلْهُ مِنْهَا فَإِنَّهُ لَيْسَ ثَمَّ دِينَارٌ وَلَا دِرْهَمٌ مِنْ قَبْلِ أَنْ يُؤْخَذَ لِأَخِيهِ مِنْ حَسَنَاتِهِ فَإِنْ لَمْ يَكُنْ لَهُ حَسَنَاتٌ أُخِذَ مِنْ سَيِّئَاتِ أَخِيهِ فَطُرِحَتْ عَلَيْهِ

“แท้จริงท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า ผู้ใดมีสิ่งหนึ่งที่ได้ละเมิดพี่น้องของเขา ดังนั้นเขาก็จงขอหะล้าล6 มันกับพี่น้องของเขาเถิด เพราะในวันกิยามะฮ์นั้น ไม่มีทองและเงินที่จะมาชดใช้ (ดังนั้นจงขอหะล้าล) ก่อนที่ความดีของเขา(ผู้ละเมิดสิทธิ์)จะถูกนำมาให้กับพี่น้องของเขา ถ้าหากเขาไม่มีความดี แน่นอนความชั่วของพี่น้องเขา ก็จะถูกโยนมาให้แก่เขา(แบกรับไว้แทน)”7
ท่านอะบูฮุร็อยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้รายงานเช่นกันว่า

أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ أَتَدْرُونَ مَا الْمُفْلِسُ قَالُوا الْمُفْلِسُ فِينَا مَنْ لَا دِرْهَمَ لَهُ وَلَا مَتَاعَ فَقَالَ إِنَّ الْمُفْلِسَ مِنْ أُمَّتِي يَأْتِي يَوْمَ الْقِيَامَةِ بِصَلَاةٍ وَصِيَامٍ وَزَكَاةٍ وَيَأْتِي قَدْ شَتَمَ هَذَا وَقَذَفَ هَذَا وَأَكَلَ مَالَ هَذَا وَسَفَكَ دَمَ هَذَا وَضَرَبَ هَذَا فَيُعْطَى هَذَا مِنْ حَسَنَاتِهِ وَهَذَا مِنْ حَسَنَاتِهِ فَإِنْ فَنِيَتْ حَسَنَاتُهُ قَبْلَ أَنْ يُقْضَى مَا عَلَيْهِ أُخِذَ مِنْ خَطَايَاهُمْ فَطُرِحَتْ عَلَيْهِ ثُمَّ طُرِحَ فِي النَّارِ

“แท้จริงท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “พวกท่านรู้หรือไม่ว่า ใครคือคนล้มละลาย?” พวกเขาตอบว่า “ผู้ที่ล้มละลายในหมู่พวกเรา คือผู้ที่ไม่มีเงินและไม่มีทรัพย์สิน ดังนั้นท่านร่อซูลุลเลาะฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า “ผู้ที่ล้มละลายจากประชาชาติของฉันก็คือ ในวันกิยามะฮ์ เขาจะมาด้วยการมี(ผลงานของการ)ละหมาด การถือศีลอด และการออกซะกาต(ที่ได้ถูกตอบรับจากอัลเลาะฮ์) แต่เขาเคยด่าคนนั้น เคยกล่าวหาคนนี้ เคยบริโภคทรัพย์สินของคนนั้น(โดยมิชอบ) เคยนองเลือดกับคนนี้ และเคยทุบตีคนนั้น ดังนั้นผู้ล้มละลายก็นั่งลง แล้วบรรดาความดีงามของเขาก็ถูกนำไปให้กับคนนั้น และบรรดาความดีงามของเขาก็ถูกนำมาให้คนนี้ แล้วถ้าหากบรรดาความดีของเขาหมดก่อนความผิดต่างๆ จะถูกชดใช้ ความผิดต่างๆ ของพวกเขาก็จะถูกโยนลงมาบนเขา(ให้แบกรับภาระไว้แทน) หลังจากนั้นเขาก็ถูกโยนลงในนรก”8
ในเรื่องสิทธิของมนุษย์นั้น ท่านอิมามอัลฆ่อซาลีย์ได้แบ่งสิทธิดังกล่าวออกเป็น 4 ประเภท9 ดังนี้

สิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น การยักยอกหรือขโมยทรัพย์สินผู้อื่น ผู้ละเมิดจำเป็นต้องคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้เป็นเจ้าของจนสุดความสามารถ หากเขาไม่มีความสามารถที่จะชดใช้คืนเพราะมีความขัดสนและยากจนก็ให้เขาขอหะล้าลจากผู้เป็นเจ้าของทรัพย์นั้น แต่ถ้าไม่มีความสามารถที่จะขอหะล้าลเพราะผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ไม่อยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว หากเขาผู้ละเมิดนั้นสามารถที่จะบริจาคทรัพย์แทนเจ้าของทรัพย์ได้ ก็จงทำ และถ้าหากไม่สามารถ ก็ให้เขาทำความดีให้มากๆ10 และหวนกลับไปเข้าหาอัลเลาะฮ์ด้วยความรู้สึกสำนึกว่าตนเองเป็นบ่าวที่ต่ำต้อยและวิงวอนให้พระองค์ทรงทำให้คู่กรณีมีความยินยอมที่จะอภัยให้เขาในวันกิยามะฮ์

สิทธิเกี่ยวกับชีวิต เช่น การไปฆ่าหรือทำร้ายผู้อื่น ซึ่งทายาทผู้ตายหรือผู้ถูกทำร้ายสามารถกิศ็อศกลับ11 หรือประนีประนอมและอภัยให้แก่ผู้ละเมิด ดังนั้นหากผู้ละเมิดสามารถดำเนินการกิศ็อศได้ ก็จงยินยอมให้กิศ็อศ หรือขอประนีประนอมและขออภัยจากคู่กรณี แต่ถ้าไม่สามารถกระทำสิ่งดังกล่าวได้เพราะทายาทผู้ตายเสียชิวิตไปแล้วหรือผู้ถูกทำร้ายไม่อยู่ ก็ให้เขาหวนกลับไปเข้าหาอัลเลาะฮ์ด้วยความรู้สึกสำนึกว่าตนเองเป็นบ่าวที่ต่ำต้อยและวิงวอนให้พระองค์ทรงทำให้คู่กรณีมีความยินยอมที่จะอภัยให้เขาในวันกิยามะฮ์

สิทธิเกี่ยวกับเกียรติยศ เช่น การนินทา การโกหก การด่าทอ เป็นต้น หากท่านโกหกพี่น้องมุสลิม ก็จำเป็นที่ท่านจะต้องพูดต่อหน้าคู่กรณีว่า สิ่งที่ฉันพูดไปนั้นโกหก หรือขอมะอัฟคู่กรณีหากไม่เกรงว่าจะเพิ่มความโกรธหรือก่อให้เกิดฟิตนะฮ์12ขี้นมาอีก ดังนั้นถ้าหากท่านเกรงว่าจะเกิดฟิตนะฮ์ ก็ให้ท่านหวนกลับไปเข้าหาอัลเลาะฮ์ด้วยความรู้สึกสำนึกว่าตนเองเป็นบ่าวที่ต่ำต้อยและวิงวอนให้พระองค์ทรงทำให้คู่กรณีมีความยินยอมที่จะอภัยให้ท่านในวันกิยามะฮ์ และทำความดีให้มากๆ เพื่อจะนำไปชดเชยสิ่งที่ท่านได้กระทำกับเขา และหมั่นขออภัยโทษให้แก่คู่กรณีให้มากๆ

สิทธิในเรื่องของศาสนา เช่น การกล่าวตัดสินมุสลิมคนหนึ่งเป็นกาเฟร ทำบิดอะฮ์ ทำชิริก และลุ่มหลง การกล่าวตัดสินดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ยากมาก13 หากท่านเคยทำเช่นดังกล่าวนี้ ท่านจะต้องไปกล่าวต่อหน้าคู่กรณีที่ท่านเคยกล่าวหาว่า สิ่งที่เคยพูดตัดสินไปนั้นไม่ถูกต้องหรือเป็นสิ่งที่โกหก และไปขอหะล้าลแก่เจ้าตัว หากมีความสามารถที่จะกระทำได้ หากไม่สามารถทำได้ ก็ให้ท่านหวนกลับไปเข้าหาอัลเลาะฮ์ด้วยความรู้สึกสำนึกว่าตนเองเป็นบ่าวที่ต่ำต้อยและวิงวอนให้พระองค์ทรงทำให้คู่กรณีมีความยินยอมที่จะอภัยให้ท่านในวันกิยามะฮ์ และทำความดีให้มากๆ เพื่อจะนำไปชดเชยสิ่งที่ท่านได้กระทำกับเขา และหมั่นขออภัยโทษให้แก่คู่กรณี
สรุปคือ สิ่งใดที่ท่านสามารถขอมะอัฟหรือทำให้คู่กรณียินยอมที่จะอภัยให้ ท่านก็ต้องทำ และถ้าหากไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้ท่านหวนกลับไปยังอัลเลาะฮ์ตะอาลาด้วยความรู้สึกว่าตนเองเป็นบ่าวที่ต่ำต้อยและวิงวอนให้พระองค์ทรงทำให้คู่กรณีมีความยินยอมที่จะอภัยท่านในวันกิยามะฮ์ เพราะการที่คู่กรณีจะยินยอมให้หรือไม่นั้น ล้วนอยู่ในพระประสงค์ของอัลเลาะฮ์ และให้มีความหวังในความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ ว่าพระองค์ทรงรู้ถึงความจริงใจในหัวใจของท่าน ดังนั้นพระองค์ก็จะทำให้คู่กรณียินยอมแก่ท่านอันเนื่องจากขุมคลังแห่งความโปรดปรานที่พระองค์จะทรงเก็บไว้ให้แก่บรรดาผู้ศรัทธานั่นเอง



เชิงอรรถท้ายบท
ดู มุฮัมมัด บิน อัลลาน อัศศิดดีกีย์, ดะลีลฟาลิฮีน, เล่ม 1, หน้า 70.
ดู อัลฆ่อซาลีย์, มินฮาญุลอาบิดีน, เล่ม 1, หน้า 151.
ไม่ใช่โศกเศร้าเสียใจเพราะกลัวว่าผู้คนจะประณามหรือโศกเศร้าเสียใจเพราะถูกลดเกลียรติจากสายตาของผู้คนทั้งหลาย เนื่องจากเป็นการโศกเศร้าเสียใจเพื่อมนุษย์ไม่ใช่เพื่ออัลเลาะฮ์.
ดู อัลฆ่อซาลีย์, มินฮาญุลอาบิดีน, เล่ม 1, หน้า 154.
เรื่องเดียวกัน.
คือขออนุมัติจากพี่น้องของเขาในสิ่งที่ละเมิดมานั้นให้เป็นสิ่งที่อนุมัติสำหรับเขา.
รายงานโดยอัลบุคอรีย์, หะดีษลำดับที่ 6534, ศ่อฮีห์อัลบุคอรีย์, หน้า 1623; และอัตติรมีซีย์, หะดีษลำดับที่ 2419, สุนันอัตติรมีซีย์, เล่ม 4, หน้า 613.
รายงานโดยท่านมุสลิม, หะดีษลำดับที่ 2581, ศอฮีห์มุสลิม, เล่ม 4, หน้า 1997; และอัตติรมีซีย์, หะดีษลำดับที่ 2418, สุนัน อัตติรมีซีย์, เล่ม 4, หน้า 613.
ดู อัลฆ่อซาลีย์, มินฮาญุลอาบิดีน, เล่ม 1, หน้า 161-165.
เพื่อที่จะนำความดีงามดังกล่าวไปให้ผู้เป็นเจ้าของสิทธิ์ในวันกิยามะฮ์ แต่ถ้าหากความดีนั้นไม่พอเพราะไปละเมิดสิทธิผู้อื่นไว้เยอะ เขาก็จำต้องแบกรับบาปของผู้ที่ถูกเขาละเมิดตามที่หะดีษศ่อฮีห์ได้ระบุไว้.
กิศ็อศคือผู้ก่อความผิดหรืออาชญากรต้องถูกทำกลับให้เหมือนกับที่เขาได้กระทำกับผู้อื่น เช่น หากนาย ก. ไปฆ่านาย ข. นาย ก. ก็จะถูกฆ่าติดตามกันไปด้วย หรือนาย ข. ใช้ไม้ตีศีรษะนาย ก. แตก แน่นอนว่านาย ก. ก็จะต้องถูกไม้ตีกลับไปเช่นกัน นอกจากกรณีที่เจ้าทุกข์ประนีประนอมให้.
คือก่อให้เกิดการกระทบกระทั่ง มีการแค้นเคือง และทะเลาะเบาะแว้งขึ้นมาอีก.
คือการกล่าวตัดสินผู้อื่นเป็นกาเฟร ทำบิดอะฮ์ ทำชิริกนั้น นั้นมิใช่เป็นเรื่องง่ายเลย เพราะต้องตรวจสอบอย่างหนักว่าเขาเป็นเช่นนั้นจริงหรือเปล่า หรือต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน หรือต้องไปถามเจ้าตัวว่าเขามีเจตนาเช่นไร ดังนั้นถ้าหากตัดสินบุคคลหนึ่งโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริง มองแต่เพียงภายนอก ชอบตามกระแส แล้วไปฮุกุ่มผู้อื่นอย่างมักง่ายและตามอารมณ์ นั่นย่อมเป็นฮักกุลอาดำที่จะต้องติดค้างกันจนถึงวันกิยามะฮ์
http://www.sunnahstudent.com/main/content/155
Profile
Profile
Admin

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 25/07/2013

http://abcde555.blogspot.com/

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ