เว็บบอร์ด
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

คำฟัตวาของปราชญ์อะฮ์ลิซซุนนะฮ์เกี่ยวกับเมาลิดนะบีย์

Go down

คำฟัตวาของปราชญ์อะฮ์ลิซซุนนะฮ์เกี่ยวกับเมาลิดนะบีย์ Empty คำฟัตวาของปราชญ์อะฮ์ลิซซุนนะฮ์เกี่ยวกับเมาลิดนะบีย์

ตั้งหัวข้อ by Profile Mon Jan 05, 2015 12:43 am

โดย... อบูมุฮัมมัด อัลอัซฮะรีย์

การทำเมาลิดนะบีย์นั้น เป็นรูปแบบที่ไม่มีการพูดถึงหรือไม่ถูกระบุฮุกุ่มไว้ในยุคสมัยของท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยุคสะละฟุศศอลิห์ ดังนั้นฮุกุ่มจึงถูกว่างเว้นโดยไม่อนุญาตให้กล่าวว่าท่านนะบีย์และสะลัฟได้ห้ามหรือได้ใช้ให้ทำเมาลิดในรูปแบบที่เกิดขึ้นมาในยุคหลัง และเมื่อการทำเมาลิดได้เกิดขึ้น บรรดาปวงปราชญ์ส่วนมากได้วินิจฉัยว่าการทำเมาลิดนั้นเป็นสิ่งที่ดีและอนุญาตให้กระทำได้ตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนั้นผู้เขียนจึงขอนำคำฟัตวาของปราชญ์อะฮ์ลิซซุนนะฮ์วัลญะมาอะฮ์สามท่านมานำเสนอเพื่อให้ท่านผู้อ่านที่มีหัวใจเป็นธรรมและใฝ่รู้ได้นำไปคิดใคร่ครวญและนำไปปรับปรุงเกี่ยวกับการทำเมาลิดนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

• คำฟัตวาของท่านชัยคุลอิสลามอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ (ฮ.ศ. 773 – ฮ.ศ. 852)
ท่านอิหม่ามอัสสุยูฏีย์ได้ถ่ายทอดคำฟัตวาของท่านชัยคุลอิสลาม อัลหาฟิซฺ อิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานีย์ ความว่า “ท่านชัยคุลอิสลาม ปราชญ์หะดีษแห่งยุคสมัย อะบุลฟัฎล์ อะห์มัด บิน หะญัร ได้ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องการทำเมาลิด

ท่านชัยคุลอิสลามตอบว่า: รากฐานเดิมของการทำเมาลิดเป็นสิ่งริเริ่มทำขึ้นมาใหม่(1) ที่มิได้ถูกถ่ายทอดจากสะละฟุศศอลิห์คนใดจากยุคสามร้อยปี และเมาลิดนั้นแม้ไม่มีการถ่ายทอดจากสะลัฟก็ตาม แต่ก็ผนวกไว้ซึ่งบรรดาความดีงามและสิ่งที่ตรงกันข้าม (ความไม่ดี) ดังนั้นผู้ใดที่แสวงหาการทำเมาลิดโดยมีส่วนที่ประกอบไปด้วยบรรดาความดีงามและห่างไกลจากสิ่งที่ตรงกันข้ามนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เริ่มทำขึ้นมาที่ดี(2) และหากมิเป็นเช่นนั้น ก็เป็นสิ่งที่ริเริ่มทำขึ้นมาที่ไม่ดี

แท้จริงได้ปรากฏแก่ข้าพเจ้า โดยการสังเคราะห์วินิจฉัยหลักการออกมาจากหลักฐานที่ถูกต้อง คือหลักฐานที่ยืนยันไว้ในหะดีษอัลบุคอรีย์และมุสลิมว่า “แท้จริงท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มาที่นครมะดีนะฮ์ แล้วท่านพบว่าพวกยิวกำลังถือศีลอดในวันอาชูรออฺ(3) ท่านนะบีย์จึงถามพวกเขา(4) ดังนั้นพวกเขาจึงกล่าวว่า วันอาชูรออฺเป็นวันที่อัลเลาะฮ์ทรงทำให้ฟิรเอาน์จมน้ำและทำให้นะบีย์มูซารอดพ้นปลอดภัย ฉะนั้นพวกเราจึงทำการถือศีลอดเพื่อขอบคุณอัลเลาะฮ์ตะอาลา”(5) ดังนั้นสิ่งที่ได้รับจากหะดีษคือ มีการขอบคุณ (ชุโกร) ต่ออัลเลาะฮ์เนื่องจากความโปรดปรานที่พระองค์ทรงประทานให้ในวันที่เฉพาะไม่ว่าความโปรดปรานนั้นจะเป็นการประทานนิอฺมัตหรือให้พ้นภัยบะลาอฺ และสิ่งดังกล่าวนั้น(6) ได้หวนกลับมากระทำเฉกเช่นวันดังกล่าวในทุกปี

และการขอบคุณต่ออัลเลาะฮ์นั้น เกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำอิบาดะฮ์ประเภทต่างๆ เช่น การสะญูด การถือศีลอด การบริจาคทาน การอ่านอัลกุรอาน และไม่มีนิอฺมัตใดที่จะยิ่งใหญ่มากไปกว่านิอฺมัตการกำเนิดของท่านนะบีย์ในวันดังกล่าว(7) ผู้เป็นนะบีย์แห่งความเมตตา

เมื่อเรายอมรับหลักการดังกล่าว ก็สมควรกำหนดวัน(Cool เป็นการเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวของท่านนะบีย์มูซาในวันอาชูรออฺ(9) และผู้ที่ไม่มีมุมมองดังกล่าว เขาก็จะไม่ใส่ใจการเจาะจงวันในเดือน (ร่อบิอุลเอาวัล) เพื่อการทำเมาลิด แต่มีบางกลุ่มได้เปิดกว้าง โดยพวกเขาได้เคลื่อนย้ายการทำเมาลิดให้อยู่ในวันใดวันหนึ่งภายในปีนั้น และในวันนั้นก็มีการกระทำ (เหมือนกับการทำเมาลิด) ในวัน (ที่สิบสองเดือนร่อบิอุลเอาวัล) ดังนี้ก็คือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับรากฐานของการทำเมาลิด

สำหรับสิ่งที่จะนำมาทำเมาลิดนั้น สมควรจำกัดบนการกระทำที่บ่งชี้ถึงการขอบคุณ (ชุโกร) ต่ออัลเลาะฮ์ตามนัยยะที่กล่าวมาแล้วข้างต้น เช่น การอ่านอัลกุรอาน การเลี้ยงอาหาร การทำทานศ่อดะเกาะฮ์ การอ่านบทกวีที่ยกย่องท่านนะบีย์ และบทกวีที่ทำให้จิตใจไม่หมกมุ่นดุนยาอีกทั้งขับเคลื่อนบรรดาหัวใจให้ไปสู่การกระทำความดีงามและปฏิบัติอิบาดะฮ์เพื่ออาคิเราะฮ์ สำหรับสิ่งที่เสริมตามมาจากสิ่งดังกล่าว เช่น การฟัง (ท่วงทำนองบทกวี) การละเล่น และอื่นๆ สมควรที่จะพูดว่าสิ่งดังกล่าวเป็นเรื่องมุบาห์(10) เนื่องจากทำให้มีความเบิกบานใจในวันดังกล่าว ก็ถือว่าไม่เป็นไรที่จะนำเข้ามาผนวกไว้ และสิ่งที่ฮะรอมหรือมักโระฮ์(11) นั้น ก็ต้องถูกห้ามปราม และสิ่งที่คิลาฟเอาลา(12) ก็สมควรถูกห้ามปรามเฉกเช่นเดียวกัน”(13)

• คำฟัตวาของท่านอัลหาฟิซฺ อิหม่าม อัสสุยูฏีย์ (ฮ.ศ. 849 – ฮ.ศ. 911)
ท่านอิมามอัสสะยูฏีย์ ร่อฮิมะหุลลอฮ์ ได้กล่าวว่า

“รากฐานเดิมของการทำเมาลิดนั้น หมายถึง การที่บรรดาผู้คนรวมตัวกัน และมีการอ่านอายะฮ์ที่ง่ายๆ จากอัลกุรอาน มีการเล่าบรรดาหะดิษที่รายงานเกี่ยวกับการเริ่มภารกิจของท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการกำเนิดของท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จากบรรดาสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น และมีการหยิบยื่นอาหารเพื่อพวกเขาจะได้รับประทานกัน แล้วพวกเขาก็แยกย้ายกันไปโดยไม่ได้เพิ่มมากไปกว่าสิ่งดังกล่าว ซึ่งมันเป็นการกระทำที่ถูกริเริ่มขึ้นมาที่ดี ซึ่งผู้ที่กระทำจะได้รับผลบุญ เพราะมันเป็นการให้เกียตริท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และเป็นการแสดงออกซึ่งความปีติยินดีในการประสูติอันมีเกียรติของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม”(14)

• ฟัตวาของท่านชัยคุลอิสลาม อิหม่าม อิบนุหะญัร อัลฮัยตะมีย์ (ฮ.ศ. 909 – ฮ.ศ. 974)
ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮุตะอาลา ได้ถูกถามว่า: ฮุกุ่มเมาลิดและการซิกรุลลอฮ์ที่ผู้คนมากมายได้กระทำในสมัยนี้ เป็นซุนนะฮ์หรือมเป็นคุณความดีหรือเป็นบิดอะฮ์? ถ้าหากพวกท่านกล่าวว่า มันเป็นคุณความดี แล้วมีคำกล่าวของสะลัฟหรือตัวบทจากฮะดีษหรือไม่? และการรวมตัวสำหรับสิ่งที่เป็นบิดอะฮ์มุบาห์(15) เป็นสิ่งที่อนุญาตหรือไม่? ท่านชัยคุลอิสลาม อิบนุ ฮะญัร อัลฮัยตะมีย์ ได้ตอบว่า:

การทำเมาลิดและการซิกรุลลอฮ์ที่ได้กระทำขึ้นมาตามทัศนะของเรานั้น ส่วนมากได้ครอบคลุมถึงความดีงาม เช่น การศ่อดะเกาะฮ์ การซิกรุลลอฮ์ การกล่าวศ่อละวาตและสลาม และการสรรเสริญท่านร่อซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

และการทำเมาลิดย่อมอยู่บนความชั่วได้เหมือนกัน ยิ่งกว่านั้น ยังรวมไว้ซึ่งสิ่งฮะรอมทั้งหลาย ทั้งนี้หากมีการมองกันระหว่างสตรีกับผู้ชายอื่น และบางเมาลิดก็ไม่มีการกระทำสิ่งฮะรอมเกิดขึ้น แต่หากมีก็เป็นไปได้น้อยมาก จึงไม่สงสัยเลยว่า เมาลิดประเภทแรกนั้น(16) เป็นสิ่งที่ต้องห้าม เพราะมีหลักนิติศาสตร์ได้ยืนยันว่า

أَنَّ دَرْءَ الْمَفَاسِدِ مُقَدَّمٌ عَلَى جَلْبِ الْمَصَالِحِ

“การป้องกันผลเสียที่จะเกิดขึ้น ย่อมอยู่ก่อนการได้มาซึ่งผลประโยชน์””
ดังนั้นผู้ใดที่ทราบว่ามีความชั่วเกิดขึ้นในสิ่งที่เขาได้กระทำ เขาย่อมเป็นผู้ฝ่าฝืนและกระทำบาป และสมมติว่าเขาได้กระทำความดีงามในเมาลิดดังกล่าว แต่บางครั้งความดีงามไม่สามารถเทียบเท่ากับความชั่วได้ ดังนั้นท่านไม่เห็นดอกหรือว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถือว่าเพียงพอสำหรับการทำความดีงามด้วยสิ่งที่สะดวกเท่าที่สามารถจะกระทำได้ แต่ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้ตัดไฟแต่ต้นลมจากสิ่งฮะรอมทั้งหมดทุกประเภท โดยท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

إِذَا أَمَرْتُكُمْ بِأَمْرٍ فَأْتُوْا مِنْهُ مَا اسْتَطَعْتُمْ ، وَإِذَا نَهَيْتُكُمْ عَنْ شَيْءٍ فَاجْتَنِبُوْهُ

“เมื่อฉันได้ใช้พวกท่านด้วยคำสั่งหนึ่ง พวกท่านก็จงนำมันมาปฏิบัติเท่าที่มีความสามารถ และเมื่อฉันได้ห้ามพวกท่านจากสิ่งหนึ่ง พวกท่านก็จงห่างไกลมันเถิด” (17)
ดังนั้นท่านจงใคร่ครวญ แล้วจะทราบว่า สิ่งฮะรอมนั้น หากแม้จะน้อยก็ตาม ก็จะไม่ได้รับการผ่อนปรนใดๆ เลย และความดีนั้นเพียงพอด้วยการกระทำสิ่งง่ายๆ และสะดวกเท่าที่สามารถ

สำหรับเมาลิด ประเภทที่สองนั้น(18) เป็นซุนนะฮ์ เพราะมีบรรดาฮะดีษที่ได้รายงานเกี่ยวกับการซิกรุลลอฮ์ตามนัยยะเฉพาะเจาะจง (มัคศูเศาะฮ์) และนัยยะโดยเปิดกว้าง (อามมะฮ์) เช่นคำกล่าวขอท่านร่อซูลุลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ว่า

لاَ يَقْعُدُ قَوْمٌ يَذْكُرُوْنَ اللهَ عَزَّ وَجَلَّ إِلَّا حَفَّتْهُمُ المَلاَئِكَةُ، وَغَشِيَتْهُمُ الرَّحْمَةُ، وَنَزَلَتْ عَلَيْهِمُ السَّكِيْنَةُ، وَذَكَرَهُمُ اللهُ فِيْمَنْ عِنْدَهُ

“ไม่มีชนกลุ่ม หนึ่งกลุ่มใดทำการนั่งซิกรุลลอฮ์(19) อัซซะวะญัลล่า นอกจากว่า บรรดามะลาอิกะฮ์จะห้อมล้อมพวกเขา ความเมตตาจะแผ่คลุมพวกเขา ความสงบสุขก็ได้ลงมาบนพวกเขา และอัลเลาะฮ์ก็ทรงเอ่ยถึงพวกเขาแก่ผู้ที่อยู่ ณ พระองค์”(20)
ได้มีรายงานจากท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า ท่านได้เคยออกไปยัง วงหนึ่งของบรรดาศ่อฮาบะฮ์ แล้วท่านร่อซูลุลเลาะฮ์กล่าวว่า อะไรที่ทำให้พวกท่านนั่งอยู่กระนั้นหรือ? บรรดาศ่อฮาบะฮ์กล่าวว่า เราได้นั่งเพื่อซิกรุลเลาะฮ์ และทำการสรรเสริญอัลเลาะฮ์ เนื่องจากพระองค์ทรงชี้นำให้เราเข้ารับอิสลามและทรงประทานความโปรดปรานแก่เรา ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวแก่เหล่าศ่อฮาบะฮ์ว่า

أَتَانِي ‏جِبْرِيلُ ‏ ‏فَأَخْبَرَنِي أَنَّ اللَّهَ عَزَّ وَجَلَّ ‏يُبَاهِي بِكُمْ الْمَلَائِكَةَ

“ท่านญิบรีลได้มาหาฉัน แล้วบอกกับฉันว่า แท้จริงอัลเลาะฮ์ทรงอวดยกย่องพวกท่านต่อมะลาอิกะฮ์”(21)
ในสองฮะดีษนี้ เป็นหลักฐานที่บ่งชี้ชัดเจนถึงความประเสริฐของการรวมตัวและนั่ง (ล้อมวง) กระทำความดีงาม และบรรดาผู้นั่งทั้งหลายก็อยู่บนความดีงามเช่นกัน และอัลเลาะฮ์ทรงอวดยกย่องพวกเขาต่อบรรดามะลาอิกะฮ์ ความสงบสุขก็จะลงมาบนพวกเขา ความเมตตาของอัลเลาะฮ์ก็จะห้อมล้อมพวกเขาไว้ และอัลเลาะฮ์ตะอาลา ก็เอ่ยยกย่องพวกเขาต่อบรรดามะลาอิกะฮ์ ดังนั้นไม่มีความประเสริฐใดที่จะมีเกียรติยิ่งกว่านี้อีกแล้ว?!(22)

สิ่งที่ได้รับจากคำฟัตวาของปราชญ์อะฮ์ลิสซุนนะฮ์ดังกล่าว คือ
1 . การทำเมาลิดเป็นรูปแบบที่ไม่มีในสมัยของท่านนะบีย์และสะละฟุศศอลิห์ แต่เนื้องานของเมาลิดมีหลักการจากซุนนะฮ์นะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

2 . การทำเมาลิดมีทั้งรูปแบบที่ดีและรูปแบบที่ไม่ดี รูปแบบที่ดีคือเมาลิดที่ประกอบไปด้วยความดีงามต่างๆ และไม่ขัดกับหลักศาสนา ส่วนเมาลิดรูปแบบที่ไม่ดี คือเมาลิดที่มีสิ่งที่ไม่ดีเข้ามาปะปน

3 . เป้าหมายของการทำเมาลิด คือการแสดงความรู้สึกเบิกบานใจและขอบคุณต่ออัลเลาะฮ์เป็นพิเศษอันเนื่องจากพระองค์ทรงให้ท่านนะบีย์กำเนิดมาเพื่อเป็นความเมตตาแก่มนุษย์ชาติ และได้ชี้นำพวกเราทั้งหลายให้อยู่ในทางนำของอัลเลาะฮ์ตะอาลา ความรู้สึกเช่นนี้สมควรมีแก่ผู้ที่ทำเมาลิดทุกคน

4 . การทำเมาลิดไม่จำเป็นต้องเจาะจงวันที่สิบสองเดือนร่อบีอุลเอาวัลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ให้กระทำได้ตลอดทั้งปี

เชิงอรรถท้ายบท
เป็นบิดอะฮ์ทางภาษา หมายถึงรูปแบบไม่มีในสมัยท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุฮะลัยฮิวะซัลลัม
คือเป็นบิดอะฮ์หะสะนะฮ์หรือบิดอะฮ์ที่ดีตามหลักภาษา คือเป็นการกระทำที่ไม่มีรูปแบบมาจากสมัยท่านนะบีย์แต่เนื้องานของเมาลิดนั้นมีหลักการมาจากซุนนะฮ์นะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม
วันที่สิบเดือนมุหัรร็อม
คือท่านนะบีย์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้ถามถึงสาเหตุการถือศีลอด
หลังจากนั้นท่านนะบีย์กล่าวว่าเราสมควรยิ่งในการถือศีลอดอะชูรออฺยิ่งกว่าพวกท่าน กล่าวคือเราสมควรที่จะขอบคุณอัลเลาะฮ์เกี่ยวกับนะบีย์มูซาด้วยการถือศีลอดยิ่งกว่าพวกท่าน
คือการถือศีลอดวันอาชูรออฺเพื่อขอบคุณอัลเลาะฮ์
วันที่สิบสองเดือนร่อบีอุลเอาวัล
วันที่สิบสองเดือนร่อบีอุลเอาวัล
ที่มีการกำหนดวันในการถือศีลอดเพื่อขอบคุณอัลเลาะฮ์เช่นเดียวกัน
คืออนุญาตให้กระทำได้เนื่องจากไม่มีคำสั่งใช้และคำสั่งห้ามมาระบุจากศาสนา
มักโระฮ์ คือสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้แต่ที่ดีนั้นไม่ควรกระทำ
คิลาฟเอาลา คือสิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้แต่ไม่ควรกระทำดีกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำในระดับที่เบากว่ามักโระฮ์
ฟัตวาของท่านอัลหาฟิซฺ อิบนุ หะญัร นี้ได้ระบุไว้ใน อัสสุยูฏีย์, อัลหาวี ลิลฟะตาวา (เบรุต: ดารุลฟิกร์, ค.ศ. 2004 /ฮ.ศ. 1424) , เล่ม 1, หน้า 229
ดู อัลหาวีย์ ลิลฟะตาวา, เล่ม 1, หน้า 221 – 222
บิดอะฮ์ทางภาษาที่มีรูปแบบที่ไม่มีตัวบทมาห้ามและใช้
คือการทำเมาลิดที่มีความชั่วมาปะปนอยู่ด้วย
รายงานโดยบุคอรีย์, ฮะดีษลำดับที่ 7288
คือการทำเมาลิดที่ประกอบไปด้วยบรรดาสิ่งที่ดีงาม
หมายถึงการซิกรุลลอฮ์ที่เปิดกว้างและไม่เฉพาะเจาะจง สิ่งใดที่อยู่ในความหมายของการซิกรุลลอฮ์ ก็สามารถนำมากระทำเป็นกลุ่มญะมาอะฮ์ได้
รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 2700
รายงานโดยมุสลิม, ฮะดีษลำดับที่ 3389
ดู อิบนุ ฮะญัร อัลฮัยตะมีย์, อัลฟะตาวา อัลหะดีษะฮ์ (ดารุตตักวา, ฮ.ศ. 1428) , หน้า 270 - 271 http://www.sunnahstudent.com/main/content/152/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%9F%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A%E0%B8%8D%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B8%AE%E0%B9%8C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%8B%E0%B8%8B%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%AE%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C
Profile
Profile
Admin

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 25/07/2013

http://abcde555.blogspot.com/

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ