เว็บบอร์ด
Would you like to react to this message? Create an account in a few clicks or log in to continue.

ความเป็นมาและความสำคัญของกฎหมายอิสลาม,,,,,,,,

Go down

ความเป็นมาและความสำคัญของกฎหมายอิสลาม,,,,,,,, Empty ความเป็นมาและความสำคัญของกฎหมายอิสลาม,,,,,,,,

ตั้งหัวข้อ by Profile Sun Feb 08, 2015 6:21 pm

 1. หลักนิติธรรมอิสลาม  (اَلشًّرِيْعَةُ الإِسْلاَمِيَّةُ)  และกฎหมายอิสลาม  (اَلْفِقْهُ الإِسْلاَمِيّ)

หลักนิติธรรมอิสลาม    (اَلشًّرِيْعَةُ الإِسْلاَمِيَّةُ)  หมายถึง  สิ่งที่อัลลอฮฺได้ทรงบัญญัติแก่มวลบ่าวของพระองค์จากบรรดาหลักการที่เกี่ยวกับการยึดมั่น  (اَلْعَقِيْدَةُ)  จริยธรรม  (اَلأَخْلاَقُ)  และการจัดระเบียบทางด้านวจีกรรม  กายกรรม  และธุรกรรมต่างๆของมนุษย์

กฎหมายอิสลาม  اَلْفِقْهُ الإِسْلاَمِيّ)) หมายถึง  ประมวลหลักการปฏิบัติต่าง ๆ ตามศาสนบัญญัติซึ่งเป็นการจัดระเบียบพฤติกรรม  วจีกรรม และการทำธุรกรรมต่างๆของบรรดาผู้ที่เข้าอยู่ในเกณฑ์บังคับของศาสนา  โดยมีที่มาจากอัล-กุรฺอานและสุนนะฮฺตลอดจนบรรดาหลักฐานทางศาสนบัญญัติอื่น ๆ

ดังนั้นนัยของหลักนิติธรรมอิสลามจึงมีความครอบคลุมกว่านัยของกฎหมายอิสลาม  เนื่องจากหลักนิติธรรมอิสลามประมวลถึงหลักการยึดมั่น   และหลักจริยธรรม   ตลอดจนประมวลกฎหมายอิสลามไว้ด้วย  จึงกล่าวได้ว่า  กฎหมายอิสลามเป็นส่วนหนึ่งของหลักนิติธรรมอิสลามโดยรวม



กฎหมายอิสลาม  แบ่งออกเป็น  2  หมวดใหญ่ ๆ คือ

1.  หมวดการประกอบศาสนกิจ  (اَلْعِبَادَات)  ซึ่งกล่าวถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของปัจเจกบุคคลกับอัลลอฮฺ    เช่น  การละหมาด   การจ่ายซะกาฮฺ  การถือศีลอด  และการประกอบพิธีหัจญฺ  เป็นต้น

2.  หมวดปฏิสัมพันธ์  (اَلْمُعَامَلاَت)  หมายถึงบรรดาหลักการเฉพาะที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน  เช่น  การซื้อขาย  การทำธุรกรรมรูปแบบต่าง ๆ การสมรส  และการตัดสินข้อพิพาท  เป็นต้น

ในส่วนของนักวิชาการสังกัดมัซฮับอัช-ชาฟิอียฺ  ได้แบ่งหมวดของกฎหมายอิสลามออกเป็น  4  หมวด  คือ

(1)    หมวดการประกอบศาสนกิจ  اَلْعِبَادَات))

(2)    หมวดปฏิสัมพันธ์  (اَلْمُعَامَلاَت)

(3)    หมวดลักษณะอาญา  (اَلْعُقُوْبَات)

(4)    หมวดการสมรส  (اَلزَّوَاجُ)  หรือกฎหมายครอบครัว  (أحْكَامُ الأُسْرَةِ)

 จากสิ่งที่กล่าวมา ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า  กฎหมายอิสลามมีความครอบคลุมถึงเรื่องราวทางศาสนาและทางโลก  ในขณะที่หลักนิติธรรมอิสลามตั้งอยู่บนหลักพื้นฐานของการจัดระเบียบที่ครอบคลุมกิจกรรมทุกมิติของมนุษย์  ไม่ว่าจะเป็นมิติทางจิตวิญญาณ  จริยธรรม  และวัตถุ

 

ที่มาของกฎหมายอิสลาม

ที่มาของกฎหมายอิสลามถูกเรียกว่า หลักฐานทางศาสนบัญญัติ (اَلأَدِلَّةُ الشَّرْعِيَّةُ)      หรือ หลักมูลฐาน  (اَلأُصُوْلُ)  ซึ่งนักกฎหมายอิสลามส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่ามี  4  ประการ  คือ

1.  อัล-กุรฺอาน  (اَلْقُرْآن)

2.  อัล-หะดีษ  (اَلْحَدِيْثُ)

3.  อัล-อิจญฺมาอฺ  (اَلإِجْمَاعُ)

สามประการนี้เรียกว่า  หลักฐานอันเป็นตัวบทที่มีการรายงานสืบเนื่องกันมา (اَلأَدِلَّةُ النَّقْلِيَّةُ)

4.  อัล-กิยาส   (اَلْقِيَاسُ)  หลักข้อนี้จัดอยู่ในหมวดหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญา  (اَلأَدِلَّةُ الْعَقْلِيَّةُ)  ซึ่งนักกฎหมายอิสลามได้ผนวกประเภทของหลักฐานในหมวดนี้เอาไว้แตกต่างกัน  เช่น  อัล-อิสติหฺสาน  อัล-อิสติสหาบฺ  อัลอุรฺฟ และอัล-มะศอลิฮุลมุรฺสะละฮฺ  เป็นต้น

นักวิชาการเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามทั้ง  4  ประการนี้ว่า     หลักฐานปฐมภูมิ              (اَلأَدِلَّةُ الأَسَاسِيَّةُ)     และเรียกประเภทอื่น ๆ ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดของหลักฐานที่ใช้การวิเคราะห์ทางสติปัญญาว่า  หลักฐานสืบเนื่อง  (اَلأَدِلَّةُ التَّابِعِيَّةُ)  หรือ  หลักฐานทุติยภูมินั่นเอง

อัล-กุรฺอาน หรือกิตาบุลลอฮฺ  (كِتَابُ اللهِ)  คือ  พระดำรัสของอัลลอฮฺ ที่ประทานลงมาให้นบีมุฮัมมัดเป็นภาษาอาหรับ  เพื่อเป็นปาฏิหาริย์แม้สูเราะฮฺที่สั้นที่สุด  พระดำรัสนั้นถูกบันทึกอยู่ในคัมภีร์ซึ่งถ่ายทอดแบบมุตะวาติรฺ และเป็นอิบาดะฮฺด้วยการอ่าน  เริ่มต้นด้วยบทอัล-ฟาติหะฮฺ  และจบลงด้วยบทอัน-นาส  อัลกุรฺอานมี  114  สูเราะฮฺ  แบ่งออกเป็น  30  ญุซอฺ  ซึ่งนับเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลาม  และเป็นที่มาของบทบัญญัติและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งแบ่งออกได้ดังนี้

1.  หลักความเชื่อ

2.  หลักจริยธรรม

3.  หลักปฏิบัติซึ่งครอบคลุมทั้งหมวดการประกอบศาสนกิจ عِبَادَات))  และหมวดปฏิสัมพันธ์  (مُعَامَلاَت)  โดยหมวดปฏิสัมพันธ์ แบ่งออกเป็น  หลักการครองเรือน  กฎหมายแพ่งและพาณิชย์  กฎหมายลักษณะอาญา  กฎหมายธรรมนูญการปกครอง  หลักวิธีพิจารณาคดีความทั้งแพ่งและอาญา  หลักวิเทโศบายหรือกฎหมายระหว่างประเทศ  และหลักเศรษฐศาสตร์และการคลัง  เป็นต้น

อัล-หะดีษ หรือ  อัส-สุนนะฮฺ (اَلسُّنَّةُ)  หมายถึง  คำพูด  การกระทำ  หรือการยอมรับของนบีมุฮัมมัด  ( )  ซึ่งเป็นคำสอนที่มีการจดจำ  บันทึก  ถ่ายทอดโดยผู้ใกล้ชิดและผู้เกี่ยวข้อง  เพื่อยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา  อัล-หะดีษเป็นแม่บทของกฎหมายอิสลามในลำดับที่  2  รองจากอัล-กุรฺอาน

อนึ่งนักกฎหมายอิสลามเรียกที่มาของกฎหมายอิสลามในลำดับที่  2  นี้ว่า  อัส-สุนนะฮฺ  เนื่องจากมีนัยกว้างและครอบคลุมมากกว่าคำว่า  อัล-หะดีษ  โดยแบ่งประเภทของอัส-สุนนะฮฺ  ออกเป็น  3  ประเภทใหญ่ ๆ คือ

1.  อัส-สุนนะฮฺที่เป็นคำพูด  คือ  คำพูดที่นบีมุฮัมมัด ( )  กล่าวเอาไว้ในโอกาสและเป้าหมายต่าง ๆ เช่น  หะดีษที่ว่า  :   “…..إنَّمَاالأَعْمَالُ بِالنِّيَّاتِ”   (อันที่จริงการปฏิบัติทั้งหลายขึ้นอยู่กับการตั้งเจตนา”  เป็นต้น

2.  อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำ  คือการกระทำที่นบีมุฮัมมัด  ( )  ได้ปฏิบัติไว้  เช่น  การปฏิบัติละหมาด  5  เวลา  การประกอบพิธีหัจญฺ  การตัดสินคดีความโดยใช้พยานและการสาบาน  เป็นต้น

3.  อัส-สุนนะฮฺที่เป็นการรับรอง  คือ  การที่นบีมุฮัมมัด  ( )  นิ่งเงียบโดยไม่ปฏิเสธหรือคัดค้านคำพูด  การกระทำที่เกิดขึ้นต่อหน้าท่าน  ( )      หรือคำพูด การกระทำที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของท่านโดยรับรู้ถึงคำพูด การกระทำนั้นโดยนบี  ( )  เห็นด้วย แสดงความยินดี หรือถือว่าคำพูดหรือการกระทำที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่ดีงาม  เป็นต้น

ในส่วนของอัส-สุนนะฮฺที่เป็นการกระทำของนบีมุฮัมมัด  ( )  นั้นนักวิชาการแบ่งเป็น  3  ชนิด  ดังนี้

1.  การกระทำต่าง ๆ อันเป็นอัธยาศัยของนบี  ( )  เช่น  การยืน  การนั่ง  การรับประทาน และการดื่ม  เป็นต้น  สิ่งเหล่านี้ไม่มีข้อขัดแย้งว่าเป็นที่อนุมัติสำหรับนบี  ( )  และประชาชาติของท่าน  แต่ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องปฏิบัติคตามทัศนะของปวงปราชญ์

2.  การกระทำต่าง ๆ ซึ่งมีการยืนยันว่าเป็นกรณีเฉพาะของนบีมุฮัมมัด  ( )  เท่านั้น  เช่น  การถือศีลอดติดต่อกัน  การอนุญาตให้มีภรรยาได้มากกว่า  4  คนในคราวเดียวกัน  เป็นต้น  การกระทำต่าง ๆ นี้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะนบี  ( )  และไม่ต้องปฏิบัติตาม

3.  การกระทำต่าง ๆ ที่นอกเหนือจาก  2  ชนิดแรก  ซึ่งมีเป้าหมายในการวางบัญญัติทางศาสนา  การกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องให้มีการปฏิบัติตามโดยมีลักษณะแตกต่างกันไปว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น (وَاجِبٌ)   ส่งเสริม  (سُنَّةٌ)    หรืออนุญาต (مُبَاحٌ)   เป็นต้น



 อัล-อิจญฺมาอฺ (اَلإِجْمَاعُ) หมายถึง  การเห็นพ้องกันของบรรดานักปราชญ์ทางศาสนา  (مُجْتَهِدٌ)  จากประชาชาติของนบีมุฮัมมัด   ( )   ในข้อบัญญัติทางศาสนา ภายหลังการเสียชีวิตของนบี  ( )  ในยุคใดยุคหนึ่ง

อัล-อิจญฺมาอฺ  มี  2  ชนิดคือ

1.  การเห็นพ้องโดยชัดเจน  (اَلإِجْمَاعُ الصَّرِيْحُ)  คือ  การที่บรรดานักปราชญ์ทางศาสนามีทัศนะ  คำพูด  และการกระทำพ้องกันต่อข้อชี้ขาดในประเด็นปัญหาหนึ่งที่เจาะจงแน่นอน  เช่น  มีการร่วมชุมนุมของบรรดานักปราชญ์ในสถานที่แห่งหนึ่ง  นักปราชญ์แต่ละคนได้นำเสนอทัศนะของตนอย่างชัดเจนในข้อปัญหานั้น ๆ และทัศนะของทุกคนก็พ้องกันต่อข้อชี้ขาดของปัญหานั้น  หรือการที่มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งตอบปัญหาศาสนาด้วยทัศนะหนึ่ง  แล้วปรากฏว่าการตอบปัญหาศาสนาจากนักปราชญ์ผู้อื่นพ้องกันในข้อชี้ขาดนั้น  ปวงปราชญ์ถือว่า  อัล-อิจญฺมาอฺชนิดนี้เป็นหลักฐานทางศาสนา

2.  การเห็นพ้องโดยนิ่งเงียบ  (الإِجْمَاع السُّكُوْتِي)  คือ  การที่นักปราชญ์ทางศาสนาบางท่านในยุคหนึ่งได้กล่าวคำพูดเอาไว้ในประเด็นข้อปัญหาหนึ่ง  และนักปราชญ์ผู้อื่นที่อยู่ร่วมสมัยนิ่งเงียบหลังจากที่รับรู้ถึงคำพูดนี้โดยไม่มีการปฏิเสธหรือคัดค้าน  อัล-อิจญฺมาอฺชนิดนี้นักปราชญ์ทางศาสนามีความเห็นต่างกันในการถือเป็นหลักฐานทางศาสนา



อัล-กิยาส  (اَلْقِيَاسُ)   หมายถึง  การนำข้อปัญหาที่ไม่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาไปเปรียบเทียบกับข้อปัญหาที่มีตัวบทระบุถึงข้อชี้ขาดทางศาสนาเอาไว้แล้ว  เนื่องจากทั้ง  2  ข้อปัญหานั้นมีเหตุผลในข้อชี้ขาดร่วมกัน

องค์ประกอบของอัล-กิยาสมี  4  ประการ ดังนี้

(1)  หลักมูลฐาน  (اَلأَصْلُ)  หมายถึง  ตำแหน่งของข้อชี้ขาดซึ่งได้รับการยืนยันด้วยตัวบทหรืออัล-อิจญฺมาอฺ  หรือหมายถึง  ตัวบทที่บ่งชี้ถึงข้อชี้ขาดนั้น

(2)  ข้อปลีกย่อย  (اَلْفَرْعُ)  คือตำแหน่งที่ไม่มีตัวบทหรืออัล-อิจญฺมาอฺระบุข้อชี้ขาดไว้

(3)  คุณลักษณะร่วมกันระหว่างหลักมูลฐาน   และข้อปลีกย่อย   คือเหตุผล (اَلْعِلَّةُ)

(4)  ข้อชี้ขาดของหลักมูลฐาน  (حُكْمُ الأَصْلِ)

ตัวอย่าง

 ข้อชี้ขาดของไวน์คือเป็นสิ่งต้องห้าม (حَرَامٌ)  เนื่องจากข้อชี้ขาดของไวน์ไม่มีตัวบทระบุชี้ชัดเอาไว้  ไวน์จึงเป็นข้อปลีกย่อย   ในขณะที่สุรามีตัวบทบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเป็นสิ่งต้องห้าม   สุราจึงเป็นหลักมูลฐาน   เหตุผลที่สุราเป็นสิ่งต้องห้ามคือการทำให้มึนเมา และการทำให้มึนเมานี้ถือเป็นเหตุผล    อันเป็นคุณลักษณะร่วมกันระหว่างสุราและไวน์  จึงมีข้อชี้ขาดว่า  ไวน์เป็นสิ่งต้องห้ามตามข้อชี้ขาดของสุรานั่นเอง  ซึ่งเป็นข้อชี้ขาดที่เกิดจากการใช้หลักอัล-กิยาส

หลักฐานที่บ่งชี้ว่า  ที่มาทั้ง  4  ประการของกฎหมายอิสลามเป็นหลักฐานทางศาสนาคือ  อัล-หะดีษที่มีรายงานว่า  รสูลได้กล่าวแก่มุอาซฺ  อิบนุญะบัล  ขณะที่ส่งเขาไปยังเมืองยะมันว่า  :  “หากมีคดีความเกิดขึ้น ท่านจะตัดสินอย่างไร”  มุอาซตอบว่า :  “ฉันจะตัดสินด้วยคัมภีร์ของอัลลอฮฺ”  รสูล กล่าวว่า  :  “หากท่านไม่พบ  (ข้อชี้ขาด)  ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ  ท่านจะตัดสินอย่างไร”  มุอาซฺตอบว่า  :  “ฉันจะตัดสินด้วยสุนนะฮฺของรสูลุลลอฮฺ”       รสูลกล่าวว่า     “หากท่านไม่พบในสุนนะฮฺของรสูลุลลอฮฺ  ท่านจะตัดสินอย่างไร”   มุอาซฺตอบว่า  :  “ฉันจะวินิจฉัยด้วยความเห็นของฉันโดยฉันจะไม่บกพร่อง”  รสูลได้จับอกของมุอาซฺแล้วกล่าวว่า  :  “การสรรเสริญทั้งมวลเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ  พระผู้ทรงเอื้ออำนวยให้ทูตของรสูลุลลอฮฺมีความคิดสอดคล้องกับสิ่งที่รสูลุลลอฮฺพึงพอใจ”  (รายงานโดยอะหฺมัด  อบูดาวูด  อัต-ติรฺมีซียฺ  อิบนุอะดียฺ  อัฏ-ฏ็อบรอนียฺ  อัด-ดารีมียฺและอัล-บัยฮะกียฺ เป็นหะดีษมุรฺสัล)



ความเป็นมาและพัฒนาการของกฎหมายอิสลาม

นักวิชาการได้แบ่งช่วงเวลาที่กฎหมายอิสลามมีการเปลี่ยนผ่านและพัฒนาการเป็น  4  ช่วงเวลา  ดังนี้

(1)  ช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น  ครอบคลุมสมัยของนบีมุฮัมมัด  ( )  โดยเริ่มต้นตั้งแต่มีการประกาศศาสนาอิสลาม  (ค.ศ.610)  และสิ้นสุดลงด้วยการเสียชีวิตของนบี  ( )  (ฮ.ศ.11/ค.ศ.636)  ในช่วงเวลาดังกล่าว  สาส์นแห่งอิสลามมิได้จำกัดอยู่เฉพาะด้านการชี้นำทางจิตวิญญาณ  จริยธรรมและการประกอบศาสนกิจเท่านั้น แต่ยังได้จัดระเบียบกิจกรรมของมนุษย์ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในโลกนี้อีกด้วย  เหตุนี้ศาสนาอิสลามจึงได้ยกเลิกขนบธรรมเนียมและประเพณีบางส่วนของชาวอาหรับในด้านการครองเรือน  การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ  ที่มาของกฎหมายอิสลามในช่วงแรกนี้จำกัดอยู่ใน  2  ประการคือ  อัล-กุรฺอาน  และอัส-สุนนะฮฺ ซึ่งเป็นรากฐานของกฎหมายอิสลามในลักษณะหลักมูลฐานต่าง ๆ โดยทั่วไป  ตลอดจนกฎเกณฑ์พื้นฐานต่าง ๆ และจากหลักมูลฐานและกฎเกณฑ์พื้นฐานดังกล่าว  นักปราชญ์ทางศาสนาได้วิเคราะห์หลักการที่มีรายละเอียดซึ่งจะกลายเป็นประมวลหลักนิติธรรมอิสลามในยุคต่อมา ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดในการจัดระเบียบทางสังคม  เศรษฐกิจ  ระบอบรัฐศาสตร์  หลักการในการประกอบศาสนกิจและการมีปฏิสัมพันธ์ในรูปของธุรกรรมต่าง ๆ

ช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้นนี้  แบ่งเป็น  2 ระยะ คือ

ก)  ระยะเวลาประมาณ  13  ปี   ณ  นครมักกะฮฺ ชาวมุสลิมเป็นชนส่วนน้อยที่มีความอ่อนแอ  ถูกกดขี่  และมิได้มีส่วนร่วมในการปกครองนครมักกะฮฺซึ่งชนชั้นปกครองเป็นพวกตั้งภาคี  ด้วยเหตุนี้บรรดาอายะฮฺอัล-กุรฺอานที่เรียกว่าอายะฮฺมักกียะฮฺ  และบรรดาอัล-หะดีษของนบีมุฮัมมัด  ( )  จึงกล่าวถึงการจัดระเบียบการปกครองและหลักการที่ว่าด้วยธุรกรรมต่าง ๆไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น  แต่เน้นการอธิบายถึงหลักยึดมั่น  หลักศรัทธาของศาสนา และเรียกร้องเชิญชวนสู่การให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ  ( )  การขัดเกลาจิตใจ และวิพากษ์ความเชื่อของพลเมืองมักกะฮฺที่ยึดติดกับการตั้งภาคีและขนบธรรมเนียมประเพณีที่มีบ่อเกิดจากอวิชชา  ส่วนการประกอบศาสนกิจในระยะแรกที่มีบัญญัติไว้คือเรื่องการละหมาดเท่านั้น

 ข)  ระยะเวลา ประมาณ  10  ปี ณ นครมะดีนะฮฺซึ่งเริ่มต้นภายหลังการอพยพ  (اَلْهِجْرَةُ) ของ นบี  ( )  และบรรดาเศาะหาบะฮฺจากนครมักกะฮฺสู่นครมะดีนะฮฺ  ชาวมุสลิมได้สถาปนารัฐอิสลามขึ้น  ณ  นครมะดีนะฮฺ โดยมีโครงสร้างของรัฐอันประกอบด้วยพลเมือง  คือ  ผู้อพยพที่เรียกว่า   “مُهَاجِرُوْنَ”  และพลเมืองมะดีนะฮฺที่เรียกว่า  “أَنْصَارٌ”  ตลอดจนชาวยิวและชนอาหรับกลุ่มอื่น ๆ   มีดินแดนคือ  นครมะดีนะฮฺและเขตปริมณฑล  และมีระบอบการปกครองทางรัฐศาสตร์และการเมือง  ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ  อำนาจบริหาร  และอำนาจตุลาการรวมอยู่ในประมุขสูงสุดของรัฐ  คือนบีมุฮัมมัด  ( )  ทั้งนี้นบี  ( )  ได้มีพันธสัญญาที่เรียกว่า  “الصَّحِيْفَةُ” ซึ่งเป็นปฏิญญาที่พลเมืองของมะดีนะฮฺยอมรับร่วมกันทุกฝ่ายโดยมีสถานะเช่นเดียวกับ  รัฐธรรมนูญ  ตามคำนิยามของนักวิชาการร่วมสมัย  ในระยะเวลานี้ประมวลกฎหมายอิสลามที่เป็นแม่บทในด้านต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการศาสนาและทางโลกได้ถูกกำหนดวางอย่างเป็นกิจจะลักษณะและมีความครบถ้วนสมบูรณ์

(2)  ช่วงเวลาแห่งการวางหลักมูลฐานของกฎหมายอิสลาม  เริ่มต้นตั้งแต่การสิ้นชีวิตของนบีมุฮัมมัด    จนถึงการล่มสลายของอาณาจักรอัล-อุมะวียะฮฺ  (ฮ.ศ.132/ค.ศ.750)  ทางด้านการเมืองนั้นครอบคลุมสมัยของบรรดาเคาะลีฟะฮฺผู้ทรงธรรม  (ฮ.ศ.11-41/ค.ศ.632-661)  และสมัยของอาณาจักรอัล-อุมะวียะฮฺ  (ฮ.ศ.41-132/ค.ศ.661-750)  ส่วนทางด้านกฎหมายอิสลามนั้นครอบคลุมสมัยของบรรดาเศาะหาบะฮฺ  ชนรุ่นตาบิอีนและตาบิอิตตาบิอีนซึ่งเรียกว่า “ยุคสะลัฟ ศอลิหฺ”  ในช่วงเวลาที่  2  นี้มีการพัฒนาทางสังคม  เศรษฐกิจ  ความคิดและการเมืองที่ส่งผลต่อพัฒนาการของกฎหมายอิสลาม  และมีการวิเคราะห์อย่างทุ่มเททางสติปัญญาที่เรียกว่า  “อัล-อิจฺญติฮาด”  เกิดขึ้นซึ่งนำไปสู่การปรากฏหลักฐานในการชี้ขาด  2  ประการ  คือ  อัล-อิจฺญมาอฺและอัล-กิยาส  ตลอดจนระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺก็ปรากฏชัดในฐานะระบอบการปกครองทางรัฐศาสตร์อิสลามอีกด้วย

พัฒนาการที่เด่นชัดในช่วงเวลานี้คือ

1.  ศาสนาอิสลามแผ่ปกคลุมดินแดนของรัฐอิสลามที่มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกจรดประเทศจีน  มหาสมุทรอินเดีย  และเขตตอนกลางของแอฟริกาทางทิศใต้ จรดมหาสมุทรแอตแลนติกทางทิศตะวันตก  และมีอาณาเขตทางตอนเหนือครอบคลุมทะเลสาบแคสเปียน ทะเลดำ และหมู่เกาะในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนถึงภาคใต้ของฝรั่งเศสและคาบสมุทรไอบีเรีย  (สเปน)

2.  ภาษาอาหรับมีความแพร่หลายและกลายเป็นภาษาทางราชการและวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ

3.  มีความตื่นตัวในการแปลตำรับตำราจากภาษาอื่น ๆ เป็นภาษาอาหรับและมีการสร้างผลงานทางวิชาการในศาสตร์แขนงต่าง ๆ

4.  บรรดาเศาะหาบะฮฺและชนรุ่นตาบิอีนได้กระจายไปตั้งหลักแหล่งในหัวเมืองต่าง ๆ  ที่ถูกพิชิตนับตั้งแต่ยุคของเคาะลีฟะฮฺอุษมาน  เป็นผลทำให้เกิดเมืองแห่งวิชาการตามมา  เช่น  เมืองกูฟะฮฺ  บัศเราะฮฺ  ฟุสฏอฏ  และแบกแดด  เป็นต้น

5.  เกิดกลุ่มสำนักทางความคิดหลากหลาย  เช่น  กลุ่มอัล-เคาะวาริจญฺ  กลุ่มชีอะฮฺ  กลุ่มมุรญิอะฮฺและกลุ่มมุอฺตะซิละฮฺ  เป็นต้น

(3)  ช่วงความสุกงอมและความสมบูรณ์  เริ่มต้นตั้งแต่การสถาปนาอาณาจักรอัล-อับบาสียะฮฺ  (ฮ.ศ.132/ค.ศ.750)  และสิ้นสุดลงด้วยการปิดประตูแห่งการอิจญฺติฮาดในตอนปลายศตวรรษที่  4  แห่งฮิจญฺเราะฮฺศักราช  นับเป็นยุคทองของกฎหมายอิสลาม  ในช่วงนี้มีการรวบรวมและจดบันทึกอัล-หะดีษของนบีมุฮัมมัด และกฎหมายอิสลาม  ตลอดจนมีการปรากฏบรรดาสำนักกฎหมายอิสลามซึ่งเรียกว่า  “มัซฮับ”  ได้แก่

1.  มัซฮับหะนะฟียฺ    มีอิมามอบูหะนีฟะฮฺ  อัน-นุอฺมาน  อิบนุ ษาบิต  (ฮ.ศ.70-150) เป็นผู้นำ แนวทางของสำนักนี้เปิดกว้างในการใช้ทัศนะและหลักเหตุผลในการวิเคราะห์ตัวบททางศาสนา

2.  มัซฮับมาลิกียฺ  มีอิมามมาลิก  อิบนุ  อะนัส  อิบนิ  อบีอามิรฺ  (ฮ.ศ.95-179)นักปราชญ์แห่งนครมะดีนะฮฺในแคว้นอัล-ฮิญาซฺและนักวิชาการสายอัล-หะดีษเป็นผู้นำ

3.  มัซฮับชาฟิอียฺ  มีอิมามอบูอับดิลลาฮฺ มุฮัมมัด  อิบนุ  อิดรีส  อัช-ชาฟิอียฺ  (ฮ.ศ.150-204) เป็นผู้นำ มีแนวทางสายกลางที่รอมชอมระหว่างการใช้ทัศนะและการยึดถือตัวบท

4.  มัซฮับฮัมบะลียฺ  มีอิมามอะหฺมัด  อิบนุ  ฮัมบัล  อัช-ชัยบานียฺ  (ฮ.ศ.164-241)เป็นผู้นำ  แนวทางของสำนักนี้ยึดถือตัวบทอย่างเคร่งครัดและไม่ยอมรับการใช้ทัศนะเหมือนอย่างมัซฮับหะนะฟียฺ

   มัซฮับหะนะฟียฺ   เป็นแนวทางที่แพร่หลายในกลุ่มประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอุษมานียะฮฺแห่งตุรกี ตลอดจนกลุ่มประเทศมุสลิมในเอเชียกลางและเอเชียใต้  ส่วนมัซฮับมาลิกียฺนั้นเป็นที่นิยมในหมู่ชาวแอฟริกา  ในขณะที่มัซฮับชาฟิอียฺ  เป็นที่นิยมของชาวมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เยเมน  และอียิปต์    ส่วนมัซฮับฮัมบะลียฺนั้นเป็นมัซฮับที่ยึดถือเป็นทางการในประเทศซาอุดิอาระเบีย และมีผู้นิยมน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับมัซฮับอื่น ๆ

(4)  ช่วงการถือตาม  (اَلتَّقْلِيْدُ )  เริ่มตั้งแต่การปิดประตูแห่งการอิจญฺติฮาด  ในปลายศตวรรษที่  4  แห่งฮิจญฺเราะฮฺศักราช  และดำเนินเรื่อยมาจนทุกวันนี้  ในด้านการเมือง  โลกอิสลามในช่วงที่  4  นี้แตกออกเป็นรัฐเล็กรัฐน้อย  มีกลุ่มชาติพันธุ์มุสลิมที่มิใช่ชาวอาหรับเข้ามามีอำนาจผลัดเปลี่ยนกัน  เช่น  ชาวเติร์ก  (ตุรกี)  ชาวเปอร์เซีย  (อิหร่าน)  เป็นต้น  และเนื่องจากมุสลิมขาดความสามัคคีและเอกภาพทำให้ดินแดนของชาวมุสลิมตกอยู่ใต้อาณัติของกลุ่มประเทศตะวันตกที่ล่าอาณานิคม  โดยเฉพาะภายหลังการล่มสลายของอาณาจักรอุษมานียะฮฺแห่งตุรกี  มีการประกาศยกเลิกระบอบการปกครองแบบคิลาฟะฮฺในปีค.ศ.1924  ผลจากการล่าอาณานิคมของกลุ่มประเทศตะวันตกทำให้กฎหมายอิสลามส่วนใหญ่ถูกยกเลิก  และมีการนำกฎหมายตะวันตกเข้ามาใช้แทน ภายหลังจากการที่กลุ่มประเทศมุสลิมได้รับเอกราชจากกลุ่มประเทศตะวันตกได้มีการเรียกร้องให้หันมาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูกฎหมายอิสลาม  และนำมาบังคับใช้อีกครั้ง  ซึ่งกระแสการเรียกร้องดังกล่าวเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่  19  เป็นต้นมา



ความสำคัญของกฎหมายอิสลาม

กฎหมายอิสลามมีอัล-กุรฺอานและอัล-หะดีษเป็นแม่บทที่สมบูรณ์ครบถ้วน  และเป็นธรรมนูญในการดำเนินชีวิตของมุสลิม  ที่กำหนดภารกิจของมนุษย์ต่ออัลลอฮฺ  ( )  หน้าที่ต่อตัวเอง  และหน้าที่ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน  โดยมีเป้าหมายในการพิทักษ์คุ้มครองสิ่งสำคัญ  5  ประการ  คือ    ศาสนา  ชีวิต  สติปัญญา  สายโลหิต  และทรัพย์สิน

ความสำคัญของกฎหมายอิสลามมี ดังนี้

(1)  กฎหมายอิสลามเป็นธรรมนูญแห่งชีวิตที่มุสลิมทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด  ทั้งนี้การปฏิบัติตามกฎหมายอิสลามมีผลทำให้ปัจเจกบุคคลมีความเป็นปกติสุข และทำให้สังคมโดยรวมเกิดความสันติสุข

(2)  กฎหมายอิสลามได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ส่วนบุคคลและสิทธิประโยชน์ส่วนรวมไว้อย่างมีดุลยภาพและครบถ้วน  ชัดเจน  มีความเป็นธรรมและสมเหตุสมผล  ยืดหยุ่นและเหมาะสมกับทุกยุคทุกสมัย

(3)  กฎหมายอิสลามได้จัดระเบียบสังคมทุกระดับตามครรลองที่ถูกต้องและเป็นธรรม  ทั้งในด้านสังคม  เศรษฐกิจ   การเมือง การปกครอง และมุ่งพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ของทุกฝ่าย



กิจกรรมท้ายบท

1.       อภิปรายหัวข้อ  “ที่มาของกฎหมายอิสลาม”  โดยแบ่งกลุ่มระดมความคิด  แล้วส่งตัวแทนออกมาอภิปรายร่วม

2.     แบ่งกลุ่มจัดทำรายงานหัวข้อ  “ความเป็นมาและพัฒนาการของกฎหมายอิสลาม”  โดยค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ

3.     ครูผู้สอนตั้งประเด็นเพื่อสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนในหัวข้อ “ยาเสพติด  4  คูณร้อยกับข้อชี้ขาดทางศาสนา”  (ในเรื่องหลักการอัล-กิยาส)





บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย kru_fik    https://www.gotoknow.org/posts/406954
Profile
Profile
Admin

จำนวนข้อความ : 266
Join date : 25/07/2013

http://abcde555.blogspot.com/

ขึ้นไปข้างบน Go down

ขึ้นไปข้างบน


 
Permissions in this forum:
คุณไม่สามารถพิมพ์ตอบ